หลักเมือง นครศรีธรรมราช

 | หน้าหลัก | จตุคามรามเทพ | ตำนานพระบรมธาตุศิริธัมมราช | ประวัติและการสร้างศาลหลักเมืองนครศรี | พระผงสุริยัน–จันทรา และดวงตราพญาราหุ |
| ดวงฤกษ์พิธีเททองหล่อพระบูชา 5 เศียร | คณะกรรมการศิษยานุศิษย์ | ติดต่อ |

 

เรียนรู้ บูชา พระบรมธาตุ
วิหารพระม้า
วัตถุมงคล ที่ระลึก
พระราหูคืออะไร
พระพุทธสิงหิงค์ปฎิมา
พระหลักเมืองเนื้อโลหะ
ความเป็นมาพระพังพระกาฬ
จอมนาคราชพังพระกาฬ
ความมหัศจรรย์ของหลักเมือง

จากใจผู้จัดทำ
ภาพกิจกรรมที่ผ่านมา
พระเครื่องพระสะสม

เมืองคอนเหอ แต่ก่อนเขาเล่าลือ
พระศรีธรรมโศกราชมีวาสนา  ก่อพระบรมธาตุยอดทองคำ
มีมหาชนมาบูชา  ผู้คนมานับถืออุปถัมถ์
ก่อพระบรมธาตุยอดทองคำ  เช้าค่ำคนมาไหว้
เมืองคอนเหอ  มีพระนอนแจ่มหน้า
มีโพธิ์ลังกา  มีพระอุ้มทอง
มียักษ์เขี้ยวยาว  ถือไม้ตะบอง
มีพระอุ้มทอง  ฆ้องกลองอยู่เคียงกัน
ไปคอนเหอ  ไปแลพระนอนพระนั่ง
พระพิงเสาตั้ง  หลังคามุงเบื้อง
เข้าไปในห้อง  ไปแลพระทองทรงเครื่อง
หลังคามุงเบื้อง  ทรงเครื่องดอกไม้ไหว
เมืองคอนเหอ  มีพระนอนทรงเครื่อง
มีศาลาหน้าเมือง  เจดีย์ทองสูงใหญ่
มีตลาดวัดศพ  สองปากประตูชัย
เจดีย์ทองสูงใหญ่  ใครไปยกมือไหว้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระบรมธาตุ
หลักฐานทางเอกสาร


๑. ตำนาน ได้แก่ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตร (ตำนานพระบรมธาตุฉบับกลอนสวด) ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปีที่สร้างพระบรมธาตุ ดังต่อไปนี้

๑.๑ พระนิพพานโสตร เป็นตำนานพระบรมธาตุสำนวนร้อยกรอง (กลอนสวด) แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ หรือประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนิพพานโสตรมีหลายสำนวน ต้นฉบับเป็นหนังสือบุด (สมุดข่อย) แต่งเพื่อใช้สวดอ่าน ลักษณะคำประพันธ์มี ๓ ประเภท คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ และกาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ๖ ประการ คือ การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระเจ้าอชาตศัตรูกับพระบรมสารีริกธาตุ พระเจ้าธรรมโศกราชกับพระบรมสารีริกธาตุ การอัญเชิญพระธาตุไปลังกา การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ หาดทรายแก้ว และการสร้างบ้านแปลงเมืองของนครศรีธรรมราช (พระนิพพานโสตรฉบับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สำนวนที่ ๑ ๒๕๒๘: ๑)
ศักราชที่กล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุในพระนิพพานโสตร สำนวนที่ ๓ กล่าวว่า
"...ฝ่ายพระเจ้าลังกา เมื่อถึงเวลาแห่งพุทธทำนายว่าในศักราช ๗๐๐ เจ้าพระยาโศกราชจะสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่หาดทรายแก้ว จึงได้รับสั่งให้แต่งสำเภาบรรทุกเงินทอง เสื้อผ้ามากมาย เพื่อช่วยสร้างพระบรมธาตุเจดีย์..." (พระนิพพานโสตร ฉบับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สำนวนที่ ๓ ๒๕๒๘: ๑๓, ๑๘)
พระนิพพานโสตรเป็นเอกสารที่แต่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้ำจุนและเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก มิได้ตั้งใจจะบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เค้าโครงเรื่องในตอนต้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย และลังกา ส่วนในตอนท้ายเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางศาสนา ระหว่างลังกากับนครศรีธรรมราช ดังนั้น ศักราชที่ปรากฎควรใส่เครื่องหมายคำถาม (?) ไว้ด้วย

๑.๒ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เป็นเอกสารร้อยแก้ว สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนต้นเรื่องกล่าวถึงพระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร อัญเชิญพระทันตธาตุหนีภัยสงครามไปยังลังกา แต่บังเอิญเรือสำเภาที่ใช้เป็นพาหนะเดินทางเกิดอัปปาง เจ้าสองพี่น้องมาขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว ซึ่งต่อมามีการทำนายว่า ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ ในเบื้องหน้าจะมีพระยา ชื่อศรีธรรมาโศกราชมาตั้งเป็นเมืองใหญ่ และก่อพระธาตุสูง๓๗ วา หลังจากนั้นเจ้าสองพี่น้องก็โดยสารเรือจากท่าเมืองตรัง กลับไปยังลังกา จนกระทั่งเมื่อศักราช ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมโศกราชก็สร้างนครลง ณ หาดทรายชเลรอบ เป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุ
ศักราชที่ปรากฎว่าพระยาศรีธรรมโศกราชสร้างเมือง และสั่งให้ก่อสร้างพระธาตุ คือ ศักราช ๑๐๙๘ ซึ่งมีผู้ตีความว่าเป็นปีพุทธศักราช ทำให้มีบทความ และหนังสือประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชหลายเล่ม นำศักราชนี้เป็นตัวกำหนดอายุเมืองนครศรีธรรมราช ว่าสร้างมาแล้วประมาณ ๑,๕๐๐ ปี และพยายามอธิบายต่อไปว่า พระธาตุที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๐๙๘ เป็นพระธาตุศิลปะศรีวิชัย ซึ่งต่อมา ได้สร้างพระธาตุทรงลังกาครอบทับอีกทีหนึ่ง

๑.๓ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเอกสารร้อยแก้ว วิเคราะห์สำนวนภาษาที่ใช้ น่าจะเก่ากว่าตำนานพระบรมธาตุเล็กน้อย เนื้อความในตอนต้นเรื่องคล้ายกันชนิดที่ว่าฉบับหลัง (ตำนานพระบรมธาตุ) น่าจะคัดลอกมาจากต้นฉบับตำนานเมือง ในย่อหน้าที่กล่าวถึงการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า
"...เมื่อมหาสักราชได้...(ต้นฉบับลบเลือน)...ปีนั้น พระยาศรีธรรมโศกราชก็สร้างสถานลหาซายนั้นเป็นกรุงเมือง ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร อัครมเหสีชื่อนางสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมโศกราช แลพญาพงศากษัตริย์ แลบาคูตริริด้วยมหาพุทธเพียร ซึ่งจะทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุ..." (ดูรายละเอียดในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช)
จากข้อความนี้ทำให้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ปี ๑๐๙๘ ในตำนานพระบรมธาตุไม่น่าจะเป็นปีพุทธศักราช แต่ควรเป็นปีมหาศักราชมากกว่า ซึ่งปีมหาศักราช ๑๐๙๘ จะตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๙ หรือประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องหาหลักฐานอื่นมาประกอบการวิเคราะห์ต่อไป
การวิเคราะห์เอกสารประเภทตำนานนั้น หากไม่ทราบว่าอะไรคือแก่น อะไรคือกระพี้ ย่อมจะนำมาซึ่งความสับสนเรื่อยไปไม่สิ้นสุด แก่นข้อหนึ่งที่มองเห็นคือความสัมพันธ์ทางศาสนา ระหว่างลังกากับนครศรีธรรมราช หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การรับอิทธิพลศาสนาพุทธเถรวาท แบบลังกาวงศ์ของนครศรีธรรมราช
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในปีใด ?

เรื่องพุทธทำนายปีที่สร้างเมืองในพระนิพพานโสตร เป็นเรื่องที่ค้นหาความจริงได้ยาก เพราะเป็นเพียงคำทำนาย ผู้แต่งมิได้ประสงค์จะบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เพียงแต่อ้างถึงพุทธทำนานเท่านั้น
ส่วนเรื่องพระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร ซึ่งตีความกันว่า น่าจะเกิดขึ้นในสมัยที่กษัตริย์ลังกาทรงพระนามว่า พระเจ้าทศคามมุนี (ซึ่งอาจเป็นองค์เดียวกับพระเจ้าทุฏฐคามณี แห่งอนุราธปุระ) ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๓๘๒ - ๔๐๖ นั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอินเดียและลังกา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชเลยแม้แต่น้อย ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วิหารราชามหาวิหาร วัดกัลยาณีสีมา กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เขียนเล่าเหตุการณ์ครั้งที่พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร นำพระบรมธาตุหนีข้าศึกจากเมืองทนทบุรี มายังลังกา เป็นเรื่องราวพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในลังกา ส่วนปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในตำนานที่เขียน เชื่อมโยงถึงเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เป็นการพยายามผูกเรื่องโยงให้สัมพันธ์กับตำนานลังกา ทั้งนี้ เพราะจุดประสงค์ของผู้แต่งตำนาน ต้องการแสดงความสำคัญของพุทธศาสนา ที่รับมาจากลังกา จึงเขียนตำนานให้ไปอิงกับตำนานลังกา การปั้นเรื่องให้เจ้าสองพี่น้องมาขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว ภายหลังเรือสำเภาอัปปาง (เรือสำเภามุ่งหน้าไปลังกา) รอนแรมเวิ้งว้างเกาะไม้กระดานแผ่นเดียวข้ามมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู แล้วเดินทางบกข้ามคาบสมุทรมายังหาดทรายแก้ว อันเป็นที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราช เพียงเพื่อมาฝังพระทันตธาตุ แล้วหลบซ่อนตัวเพื่อรอโอกาสโดยสารเรือกลับไปลังกานั้น เป็นได้แค่เหตุการณ์ปาฏิหาริย์
อันที่จริง เส้นทางที่กล่าวมานี้ เป็นเส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนา มิได้หมายความว่าเจ้าสองพี่น้องจะเดินทางมาจริงๆ แต่ผู้แต่งตำนานซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระสงฆ์ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความศรัทธา และคงได้รีบอิทธิพลจากตำนานลังกา จึงนำมาแต่งตำนานศาสนาในท้องถิ่นของตนบ้าง
พระนิพพานโสตรซึ่งเป็นตำนานในรุ่นรัตนโกสินทร์ น่าจะได้รับอิทธิพลจากตำนานเมือง และตำนานพระบรมธาตุ ฉบับร้อยแก้วที่แต่งในสมัยอยุธยา เพราะฉะนั้น ศักราชใดๆ ที่ปรากฎในพระนิพพานโสตร ก็น่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่าตำนานที่เขียนมาก่อนหน้านั้น

สำหรับศักราช ๑๐๙๘ ผู้เขียนค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นปีมหาศักราช เนื่องจากรับกับหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลังกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่พบในเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

๒. จารึก ไม่มีจารึกหลักใดกล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุ แต่มีจารึกบางหลักกล่าวถึงพระนามของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช สอดคล้องกับชื่อที่ปรากฎในตำนาน จารึกดังกล่าวคือจารึกหลักที่ ๒๔ และหลักที่ ๓๕
จารึกที่ ๒๔ หรือที่รู้จักกันในนามจารึกพระเจ้าจันทรภาณุ พบที่วัดเวียง อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จารึกหลักนี้ ระบุศักราชซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๗๗๓ กล่าวถึงพระผู้เป็นใหญ่ในพรลิงค์ ทรงมีราชนิติเทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศกราช ทรงพระนามจันทรภาณุศรีธรรมราช แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ (ศิลปากร ๒๕๒๙: ๑๔๖)
จารึกที่ ๓๕ พบที่ดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกระบุปีมหาศักราชซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๐ กล่าวถึงมหาราชาธิราชผู้มีนามว่ากรุงศรีธรรมโศก ทำบุญอุทิศถวายพระสรีรธาตุของกมรเตงชคตศรีธรรมโศกผู้ล่วงลับ โดยมีราชโองการมายังพระเจ้าสุนัตให้เป็นผู้ดำเนินการตามกระแสพระราชโองการ ถวายที่นา ข้าทาส และสิ่งของบูชาพระธาตุฯ (หมายถึงพระสรีรธาตุของกมรเตงชคตศรีธรรมโศกผู้ล่วงลับ)
จากหลักฐานที่ปรากฎในจารึก ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขั้นที่ ๑ ระบุเรื่องราวของกษัตริย์ผู้มีสมัญญาว่า พระเจ้าศรีธรรมโศก อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่งที่พบในนครศรีธรรมราช ซึ่งรู้จักในชื่อจารึกพระเจ้ากรุงศรีวิชัย หรือจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง) นั้น กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย หรือที่จารึกใช้คำว่า ศรีวิชาเยนทรราชา ศรีมหาราชา หรือพระราชาธิราช จารึกหลักนี้ระบุปีมหาศักราชซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๓๑๘ แสดงว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังไม่มีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือยังไม่มีพระราชาพระองค์ใด อ้างตนเทียบเท่าพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดียเลย
สรุปหลักฐานจากจารึก ชื่อพระราชาผู้ทรงพระนามว่าศรีธรรมโศกราชเริ่มปรากฎตัวตนอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘


งื่อนไขการใช้และคำประกาศของเว็บไซต์หลักเมือง๓๐.คอม
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 : ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไขรูป หรือ ข้อความใดๆ ไปใช้ ก่อนได้รับอนุญาต
สงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ โดย [นายประยงค์ - นางนวลจันทร์ เชาวิลตถวิล]